Last updated: 6 ส.ค. 2567 | 7976 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ในขณะที่เราออกกำลังกายอย่างหนักนั้นร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น ระดับน้ำตาล โปรตีน และ เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้ เกล็ดเลือดมาเกาะเป็นกลุ่มกัน มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามในคนปกติ ร่างกายก็สามารถสร้างกระบวนการสลายลิ่มเลือด เพิ่มมากขึ้นในขณะเดียวกัน ทำให้หักล้างหรือลดภาวะการเกาะเป็นกลุ่มของเกล็ดเลือด แต่กรณีของผู้ที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลันได้ ถ้าออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป ดังนั้นควรเลือก การออกกำลังกายที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ถ้าไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ต้องเริ่มออกกำลังกายชนิดเบาๆ ก่อน เช่นการวิ่งจ็อกกิ้งช้า ๆ แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการวิ่งเหยาะๆ
ข้อมูลจาก American College of Sports Medicine (ACM) และ American Heart Association (AHA) ระบุว่า สิ่งสำคัญในการออกกำลังกายไม่ได้ขึ้นกับความหนักเบาในการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับ “ความสม่ำเสมอ” ของการออกกำลังกายอีกด้วย จึงจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และโรคกระดูกพรุนได้
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เหตุใดนักกีฬาฟุตบอลมืออาชีพจึงมีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ ทำไมนักกีฬาล้มในสนามแล้วหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันทำให้นักกีฬาล้มลงกันแน่ แล้วภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราลองมาค้นหาความจริงเกี่ยวกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนี้กันครับ
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆของร่างกายอย่างทันที สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคหัวใจอยู่เดิมโดยที่เจ้าตัวอาจไม่ทราบ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน และถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในหนึ่งชั่วโมงหลังมีอาการ เราจะเรียกภาวะนี้ว่า “Sudden cardiac death” ซึ่งภาวะนี้เกิดได้กับใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้อง ป็นโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวอื่นใดมาก่อน
ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาพบการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันปีละ 300,000 – 400,000 รายต่อปี1 โดยพบในกลุ่มนักกีฬา2 ในอัตราส่วนประมาณ 1 ต่อ 65,000 ถึง 1 ต่อ 200,000 สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พบว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตปีละประมาณ 54,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน และเป็นสาเหตุที่ทาให้เกิดการเสียชีวิตของประชากรได้ในทุกเพศทุกวัย โดยผู้ป่ วยประมาณครึ่งหนึ่ง เสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล อาจเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน
สถิติของสมาคมโรคหัวใจ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด หรือสาเหตุภายนอกที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นก็ได้ สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปมักเกิดจาก โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) ส่วนผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปีส่วนใหญ่เกิดจาก โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุ (hypertrophic cardiomyopathy ) ซึ่งภาวะนี้การออกกำลังกายเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ นอกจากนี้ก็ยังอาจเกิดจาก ภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อย (premature coronary artery disease ) หรือภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด (congenital coronary artery anomalies) เช่น โรค Marfan’s syndrome ส่วนสาเหตุภายนอกที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เช่น ภาวะที่มีวัตถุกระแทก อย่างรุนแรงที่บริเวณหน้าอก ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่า commotio cordis นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ยาโด๊ปเพื่อการแข่งขัน เช่นการใช้สาร anabolic-androgenic steroids ก็เป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้เช่นกัน
สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่พบบ่อยได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ฯลฯ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้ทราบ ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า เรามีโรคเหล่านี้หรือไม่ และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคร่วมด้วย
ส่วนผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปีนั้นต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายจากแพทย์เป็นหลัก เพื่อค้นหาว่า มีโรคความผิดปกติโดยกำเนิดหรือไม่ซึ่งอาจจะยังไม่แสดงอาการใดๆ ก็ได้ จากการศึกษาของ Fuller และคณะ 3 ได้ทำการตรวจนักกีฬาจำนวน 5,615 คน ได้ผลสรุปว่า แม้ว่าจะใช้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงในการเกิด ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปีได้ดีกว่า การซักประวัติและตรวจร่างกายก็ตาม แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่สามารถ ยืนยันถึงความปลอดภัยต่อการเกิดภาวะนี้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการออกกำลังกายอย่างหนัก ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
27 ก.พ. 2567
30 ก.ค. 2567
1 มี.ค. 2566