คู่มือ ปั๊มหัวใจ

Last updated: 15 ส.ค. 2567  |  90016 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คู่มือ ปั๊มหัวใจ

 
 
 
 
ห่วงโซ่ของการรอดชีวิต : สิ่งสำคัญต่อการรอดชีวิตของคนไทย
 


                การช่วยชีวิตผู้ป่วยมีขั้นตอนสำคัญ ถ้าปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ โดยมีขึ้นตอนสำคัญดังนี้

1.       การปลุกผู้หมดสติ พร้อมกับขอความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
2.       การช่วยฟื้นคืนชีพอย่างมีประสิทธิภาพ
3.       การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว
4.       ทีมการแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปรับช่วงต่อได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
5.       การช่วยชีวิตขั้นสูงต่อและดูแลภาวะหัวใจหยุดเต้นที่ โรงพยาบาล

 

การช่วยชีวิตผู้ใหญ่ขั้นพื้นฐาน (Adult Basic Life Support)

ขั้นตอนที่ 1 ดูความพร้อมและความปลอดภัยก่อน เข้าช่วยเหลือ
 


                ผู้ช่วยเหลือประเมินที่เกิดเหตุว่าปลอดภัยหรือไม่ โดยการประเมินบริเวณรอบ ๆ ถึงอันตราย เช่น สารพิษ กระแสไฟฟ้า ระเบิด และอื่น ๆ ถ้าไม่ปลอดภัยควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือ ตามทีมช่วยเหลือมาช่วย

                ประเมินตัวท่านเองว่าพร้อมช่วยผู้อื่นหรือไม่ เช่น พบผู้ประสบภัยที่จมน้ำแต่ท่านว่ายน้ำไม่เป็น เป็นต้น

 

ขั้นตอนที่ 2 ประเมินการตอบสนองของผู้ป่วย

                ประเมินโดยการตบบ่าพร้อมกับตะโกนว่า “คุณ...คุณ...เป็นยังไงบ้าง” แล้วดูที่หน้า ถ้าไม่ตอบคำถาม ไม่ขยับตัว ไม่ส่งเสียงคราง ไม่ขยับใบหน้า และมุมปาก แสดงว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนอง
                หากผู้ป่วยตอบสนองให้ประเมินต่อไปว่าต้องตามหน่วยฉุกเฉินหรือไม่ และประเมินซ้ำเป็นระยะๆ



หมายเหตุ ในกรณีที่สงสัยว่ามีการบาดเจ็บศรีษะและคอ อย่าพยายามขยับตัวผู้หมดสติ เพราะการขยับจะทำให้ผู้ป่วยที่สันหลังบาดเจ็บ จะกระตุ้นให้เป็นอัมพาตได้

 

ขั้นตอนที่ 3 ขอความช่วยเหลือ

 

                ตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือใช้โทรศัพท์มือถือโทรขอความช่วยเหลือจากระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (รถพยาบาล) โดยกด หมายเลข 1669 แล้วเปิดลำโพงโทรศัพท์แล้วจึงวางข้างตัวผู้ป่วย โดยต่อสายไว้ตลอดเวลา จนกว่าเจ้าหน้าที่จะให้วางสาย  โดยเจ้าหน้าที่จะข้อมูลที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือทั้งหมด

  • ตรียมเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ
  • ฟังคำแนะนำจากหน่วยฉุกเฉิน 1669 ตลอดเวลา
  • ถ้าอยู่ลำพังและไม่มีโทรศัพท์มือถือ ให้ตามหน่วยฉุกเฉิน หรือ รถพยาบาลก่อน

หมายเหตุ ฟังคำแนะนำจากหน่วยฉุกเฉิน 1669 ตลอดเวลา ห้ามวางสายก่อนเด็ดขาด

 

ขั้นตอนที่  4 จัดท่าให้ผู้ป่วยหมดสตินอนหงาย
                ถ้าผู้ป่วยหมดสติอยู่ในท่านอนคว่ำให้พลิกผู้ป่วยมาอยู่ในท่านอนหงายบนพื้นราบ เรียบ และ แข็ง แขนทั้งสองข้างนอนเหยียดอยู่ข้างลำตัว

ขั้นตอนที่ 5 ประเมินการหายใจภายใน  10 วินาที



                ประเมินการหายใจผู้ป่วยโดยมองที่หน้าอกของผู้หมดสติ หากผู้หมดสติใส่เสื้อผ้าอยู่ให้ถอดจนกว่าจะเห็นหน้าอกชัดเจน โดยมองเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วินาที

  • หากขยับปกติ   ให้สังเกตุอาการทุก ๆ 2 นาที และรอจนกว่าทีมฉุกเฉิน 1669 จะมาถึง
  • หากไม่ขยับ      ให้เริ่มกดหน้าอกทันทีและช่วยหายใจ โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้งและใช้เครื่องช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ

หมายเหตุ หากปากขยับแต่หน้าอกไม่ขยับ ใน  10 วินาที ให้เริ่มกดหน้าอกและช่วยหายใจทันที

 

ขั้นตอนที่ 6  กดหน้าอก

  1. วางผ่ามือซ้าย(สันมือ)บนหน้าอกบริเวณระหว่างหัวนมหรือ กลางกระดูกหน้าอก ของผู้ประสบภัย แล้ววางฝ่ามือขวาทับมือข้างซ้าย ตรึงข้อศอกให้นิ่ง แขนเหยียดตรง ห้ามงอแขน  โน้มตัวให้หัวไหล่อยู่เหนือผู้หมดสติ โดยทิศทางของแรงกดดิ่งตั้งฉากลงสู่กระดูกหน้าอก
  2. กดบนหน้าอกผู้ประสบภัยตรงๆลึกอย่างนั้น 2 นิ้ว หรือ 5 ซม. ถึง 2.4 นิ้ว หรือ 6 ซม. เร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที ด้วยวิธีการนับ “ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ สิบเอ็ด สิบสอง สิบสาม สิบสี่ สิบห้า สิบหก ... ยี่สิบ ยี่สิบเอ็ด ยี่สิบสอง... ยี่สิบเก้า สามสิบ”
  3. จังหวะเด้งกลับให้หน้าอกเด้งกลับตำแหน่งเดิมทุกครั้ง อย่าคาน้ำหนักไว้เพราะจะทำให้หัวใจคลายตัวไม่เต็มที่

หมายเหตุ 
  • การกดหน้าอกอย่างมีประสิทธิภาพต้องกดเร็ว กดลึก กดโดยไม่หยุด
  • การหยุดกดหน้าอก เท่ากับการไหลเวียนเลือดหยุดลง
  • หากหยุดนานกว่า 10 วินาที ทำให้ผู้ป่วยโอกาสรอดน้อยลงมาก

 

ขั้นตอนที่ 7 เปิดทางเดินหายใจ

                ในผู้ที่หมดสติ หัวใจหยุดเต้น สมองจะขาดเลือด ทำให้สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อลิ้น ทำให้ลิ้นตกไปออุดกลั้นทางเดินหายใจ ต้องช่วยโดยการยกขากรรไกรล่างขึ้น เพื่อให้ลิ้นที่ติดกับขากรรไกรล่างถูกยกขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจโล่ง ด้วยวิธีดันหน้าผาก และ เชยคาง Head Tilt-Chin Lift  

  1.  ใช้มือวางบนหน้าผาก แล้วใช้มืออีกข้างจับบริเวณกระดูกของคาง
  2. กดศีรษะลง แล้วเชยคางขึ้น

 

หมายเหตุ

  • หลีกเลี่ยงการกดที่เนื้อคางเพราะจะทำให้ปิดทางเดินหายใจ
  •  หลีกเลี่ยงการกดคางแรงจนปิดปาก
     

ขั้นตอนที่ 8 การเป่าลมเข้าปอด

        1.  เปิดทางเดินหายใจ แล้วบีบจมูกทั้งสองข้างโดยการจับที่ปีกจมูก
         2.  ให้ลมหายใจโดยการเป่าจากปากสู่ปาก เป่าแรง ๆ ช้า ๆ
         3.  ให้ลมหายใจทั้งหมด 2 ครั้ง(อย่างน้อยครั้งละ 1 วินาที)
         4.  สังเกต การขยับของหน้าอก


 

ขั้นตอนที่ 9 ปั้มหัวใจ 30 ครั้ง สลับ ช่วยหายใจ 2 ครั้ง จนกว่า

          1.   ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหว หายใจ ไอ หรือ
          2.   เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติจะมาถึง
          3.   หน่วยกู้ภัย รถพยาบาล ทีม1669 จะมาถึง

หมายเหตุ ในกรณีที่มีผู้ช่วยชีวิต มาช่วยเพิ่มขึ้น ควรสลับหน้าที่ของผู้ที่กดหน้าอกกับผู้ที่ทำการช่วยหายใจทุก 2 นาที (5 รอบ)

 

 เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ(AED) หรือ เออีดี



              การใช้เครื่อง เออีดี เป็นอีกขั้นตอนที่มีความสำคัญมากในห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต เครื่องเออีดี หรือเครื่องช็อคไฟฟ้าอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์ที่สามารถ “อ่าน วิเคราะห์ และช่วยรักษาด้วยไฟฟ้า” ได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพ โดยจะทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับมาเป็นภาวะปกติได้ และ หัวใจจะสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ

           1. เปิดเครื่อง ถอดเสื้อของผู้ประสบภัยออก (หากถอดไม่ได้ให้ใช้กรรไกรตัดเสื้อผู้ป่วยออกได้)

           2. แปะแผ่น บนหน้าอกผู้ประสบภัยตามคำแนะนำ โดยแปะให้แนบสนิทกับหน้าอกผู้ป่วย แผ่นแรกติดที่ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านบน และอีกแผ่นติดที่ใต้ราวนมซ้ายข้างลำตัว

            3. ให้เครื่องเออีดี วิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระหว่างนั้นห้ามสัมผัสถูกตัวผู้ป่วยโดยเด็ดขาด

            4. ห้ามแตะต้องตัวผู้ป่วย ถ้าเครื่องพบคลื่นไฟฟ้าที่สามารถรักษาได้ จะให้กดปุ่ม SHOCK โดยให้ตะโกนดังๆว่า “ฉันถอย คุณถอย และ ทุกคนถอย” แล้วจึงกดปุ่ม SHOCK

            5. รอทำตามคำสั่งที่ได้ยินจากเครื่องต่อไป



ตำแหน่งวางแผ่นช็อคไฟฟ้าหัวใจ
นอกจากตำแหน่งที่แนะนำยังมีอีก 3 ตำแหน่งที่แนะนำคือ
         1. กลางหน้าอกด้านหน้า และ กลางหน้าอกด้านหลัง
         2. ใต้ราวนมซ้ายด้านหน้า และ ใตัสะบักด้านซ้าย
               3. ใต้ไหหลาร้าด้านขวา และ ใต้สะบักด้านซ้าย
โดยมีประสิทธิภาพในการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะเท่ากัน

การช็อคไฟฟ้าในผู้ป่วยที่ฝังเครื่องช็อคไฟฟ้าภายใน
                ส่วนมาก จะฝังเครื่อง ช็อคไฟฟ้าภายในไว้ ที่หน้าอกบนซ้าย หากแปะแผ่นช็อคไฟฟ้าบริเวณที่ใกล้กับ เครื่องจะทำให้เครื่องเออีดี ไม่ทำงานเพราะจะไปอ่านจังหวะหัวใจจากเครื่องช็อคไฟฟ้าภายใน ดังนั้นจึงควรแปะ ให้ห่างจากตัวเครื่อง Internal Pacemakers ประมาณ 8-10 ซม.

รอดแล้ว

จะหยุดปั๊มหัวใจ ก็ต่อเมื่อ

ทีมฉุกเฉิน รถพยาบาลหรือทีมกู้ชีพจะมาถึง
ผู้ป่วยหายใจได้เอง หน้าอกขยับ
ผู้ป่วยขยับได้เอง รู้สึกตัว


Tip
ให้เปิดเครื่อง AED ไว้ แล้ว ตรวจดูการหายใจซ้ำทุกๆ 2 นาที ตามเครื่องบอก จนกว่าทีมช่วยเหลือมา

หากผู้ป่วยตื่นรู้สึกตัวให้ปิดเครื่อง AED และจะเปิดอีกครั้งเมื่อผู้ป่วยหมดสติไปอีกครั้ง

หากผู้ป่วยหายใจแต่ยังไม่รู้สึกตัว ให้จัดท่านอนตะแคงกึ่งคว่ำตาม

 

การใช้เครื่อง เออีดี ในสถานะการณ์พิเศษ


          1. กรณีผู้ป่วยมีขนหน้าอกมาก : ขนหน้าอกจะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ แผ่นนำไฟฟ้าแนบสนิทกับหน้าอก จึงควรโกนขนหน้าอกออกก่อนจะติดแผ่นนำไฟฟ้าทุกครั้ง
          2. กรณีผู้ป่วยเปียกน้ำ :  ควรนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่เปียกน้ำ แล้วจึงใช้ผ้าขนหนูเช็ดบริเวณหน้าอกผู้ป่วยให้แห้งก่อนแปะแผ่นนำไฟฟ้า
          3. กรณี ผู้ป่วยติดแผ่นให้ยาทางผิวหนังที่หน้าอก:  ให้ดึงแผ่นยาออก เช็ดบริเวณนั้นให้แห่งแล้วจึงค่อยติดแผ่นนำไฟฟ้า ของเครื่อง เออีดี

          4. กรณีที่ ผู้ป่วยใส่เสื้อหรือชุดที่ไม่สามารถถอดได้ ให้ใช้กรรไกรในชุด AED kit set ตัดออกเพื่อแปะแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอกเปลือยผู้ป่วยได้
          5. หากมีเลือดหรือสารคัดหลั่งเปื้อน เต็มหน้าอกผู้ป่วย ให้ผู้ช่วยเหลือใส่ถุงมือแล้ว จึงนำผ้าไปเช็ดบริเวณ เลือด/สารคัดหลั่งก่อน แปะแผ่นนำไฟฟ้า
          6. เมื่อใช้ แผ่นแปะนำไฟฟ้า ถุงมือ กรรไกร มีดโกน ผ้า แผ่นเป่าปาก แล้ว ให้ใส่ลงในถุงแดงเพื่อนำไปทำลายให้ถูกสุขลักษณะ ต่อไป

 

 

การปั้มหัวใจเด็ก

       ผู้ช่วยเหลือดำเนินการตามขั้นตอนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ปรับวิธีการกดหน้าอกโดยให้ผู้ช่วยเหลือวางมือลงตรงกึ่งกลางหน้าอก (กึ่งกลางระหว่างหัวนม) กดลึกลง ไปประมาณ 1/3 ของความหนาของหน้าอก(ประมาณ 5 ซม.หรือ 2 นิ้ว) ในการกดหน้าอกจะใช้มือเพียงมือเดียวหรือสองมือก็ได้ สำหรับเด็กวัยรุ่นให้ใช้ความลึกในการกดเท่ากับผู้ใหญ่ (5-7 ซม.)

การปั้มหัวใจทารก

          ให้กดหน้าอกลึกลงไปประมาณ 1/3 ของความหนาของหน้าอก(4 ซม.หรือ1.5 นิ้ว โดยการใช้ 2 นิ้วมือหรือ 2 นิ้วโป้ง อัตราเร็วของการกดหน้าอก 100-120 ครั้งต่อนาที สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง หรือ 30 : 2 ในกรณีที่มีผู้ช่วยเหลือ 2 คน ให้ปรับเปลี่ยนอัตราการกดหน้าอกจาก 30 ครั้ง เป่าปาก 2 ครั้ง มาเป็น กดหน้าอก 15 ครั้ง เป่าปาก 2 ครั้ง

การช่วยสำลักทารก

  1. ให้นั่งคุกเข่ากับพื้นหรือนั่งบนเก้าอี้ หรือท่ายืนใช้มือประคองศีรษะทารกบริเวณขากรรไกรจัดให้อยู่ในท่าคว่ำโดยให้ทารกนอนทาบบนหน้าแขน วางแขนบนหน้าขาแล้วใช้มือตบลงที่ตรงกึ่งกลางกระดูกสะบักทั้งสองข้างจำนวน 5 ครั้ง ต่อเนื่อง
  2.  ใช้มืออีกข้างหนึ่งประคองที่ท้ายทอยแล้วใช้แขนแนบลงตรงกึ่งกลางหลังของทารกแล้วพลิกทารกหงายหน้าขึ้นนำมาวางไว้บนต้นขาแล้วใช 2 นิ้วมือวางลงตรงกึ่งกลางหน้าอกใต้แนวราวนมกดลึกลงไป 1/3 ของความหนาของหน้าอกจำนวน 5 ครั้ง ต่อเนื่อง
  3.  ให้ทำไปจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะออก ถ้าทารกหมดสติ หยุดหายใจให้เข้าสู่ขั้นตอนของการกู้ฟื้นคืนชีพทารกทันที

การช่วยสำลักผู้ใหญ่

  1. ถ้าผู้ป่วยมีอาการของทางเดินหายใจถูกอุดกั้นมีอาการแสดงคือ เอามือกุมที่คอตาเหลือก หน้าเขียว กระวนกระวาย พูดไม่มีเสียง ไอไม่มีเสียง เป็นต้น ให้รีบเข้าไปถามว่า "อาหารติดคอ ใช่หรือไม่"
  2. ถ้าผู้ป่วยพยักหน้า หรือตอบว่า "ใช่" ให้รีบขออนุญาตผู้ป่วย "ให้ผม/ฉันช่วยคุณนะ ครับ/คะ" แล้วรีบเข้าไปทางด้านหลัง แล้วใช้มือข้างหนึ่งหาสะดือ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่ง กำหมัดแล้ววางเหนือสะดือ ใต้ลิ้นปีโดยหันด้านนิ้วโป้งเข้าหาลำตัวผู้ป่วย บอกให้ผู้ป่วย แยกขาออกแล้วผู้ช่วยเหลือวางขาตรงกลางหว่างขาผู้ป่วย
  3. รัดกระตุกต่อเนื่อง 5 ครั้งให้ทำไปจนกว่าเศษอาหารจะออกหรือผู้ป่วยหมดสติ

หมายเหตุ สำหรับคนอ้วนหรือคนท้อง ให้ใช้วิธีการรัดกระตุกที่หน้าอก ชุดละ 5 ครั้งต่อเนื่องทำไปจนกว่าเศษอาหารจะหลุด หรือหมดสติ(ให้ทำ CPR ทันที) เมื่อแก้ไขได้แล้วควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทุกราย


 

คำถามที่บ่อย

1. ทำไมต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในบริเวณที่เกิดเหตุ

  • เพื่อความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือ
  • ไม่ให้เป็นผู้ป่วยคนที่สอง

2. ทำไมต้องกระทุ้งท้อง

  • เพื่อเพิ่มความดันในช่องอกทางอ้อม โดยให้แรงดันที่ช่องอกดันเศษอาหารออกมาได้

3. ถ้าสถานการณ์เศษอาหารติดคอแต่เราอยู่คนเดียวจะใช้วิธีใด

  • พยายามขากออกมาก่อน
  • ใช้สันเก้าอี้กระทุ้งที่ท้องตนเอง

4. จะรู้ได้ยังไงว่าเด็กเล็กนอนหลับหรือหมดสติ

  • ตบที่เท้า เป็นการปลุกเด็ก ถ้าเด็กตื่นลืมตาก็ไม่หมดสติ

5. ทำไมต้องตบเท้าเด็กแทนการตบบ่าแบบผู้ใหญ่

  • เด็กเล็กเกินไปตบยาก
  • อาจจะทำให้เกิดอันตรายกับเด็ก

6. ถ้าผู้ใหญ่ดิ้นแต่หลับตาแสดงว่าเขายังมีสติอยู่ไหม

  • อาจจะเจอคนตาบอด
  • อาจจะหลับลึกก็เป็นไปได้
  • อาจจะหลับลึกก็เป็นไปได้ยังนับว่ารู้สึกตัวอยู่ แต่ควรตาม ทีมกู้ชีพมา

7. ถ้ากระทุ้งเท่าไหร่อาหารก็ยังไม่ออกสักทีต้องพักก่อนไหม หรือสามารถทำต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ โดยทำแรงขึ้น

  • กระทุ้งท้อง ห้า ครั้ง แล้วดูว่าออกไหม ทำไปเรื่อยๆ
  • ถ้าคนไข้หมดสติให้เริ่ม ซีพีอาร์ได้เลย แล้วทุกทุกๆครั้งก่อนเป่าปากให้ดูเศษอาหารก่อนเป่า

8. ถ้าปั๊มหัวใจอยู่ แล้วซี่โครงหักต้องปั๊มต่อไหม หรือต้องหยุดทำการปั๊มหัวใจทันที

  • ถ้าหยุดปั๊มทันทีผู้ประสบเหตุอาจจะเสียชีวิตได้ แต่ถ้าซี่โครงหักเราสามารถรักษาได้

9. ถ้าแผ่นแปะของเด็กไม่มี สามารถใช้แผ่นแปะของผู้ใหญ่ได้ไหม

  • ใช้แทนได้แต่ตำแหน่งการแปะต้องเปลี่ยนไปในเด็กที่มีขนาดตัวเล็ก เป็นแปะด้านหน้าหลังแทน

10. ถ้าอยู่คนเดียวปั้มหัวใจจนเหนื่อยมาก เราปั๊มต่อไม่ไหวควรปฏิบัติอย่างไรต่อ

  • ทบทวนดูว่าได้ตามทีมช่วยเหลือหรือยัง
  • หากตามแล้วไม่มาให้ตามซ้ำ
  • หากหยุด CPR ยังไง คนไข้ก็เสียชีวิต

11. ถ้าเด็กทารกหมดสติเราสามารถปั้มหัวใจไปด้วยและเดินทางไปโรงพยาบาลเองได้หรือไม่

  • สามารถทำได้และมีท่าพิเศษในการปั๊มหัวใจและอุ้มไปด้วย

12. ถ้าเป่าปากแล้วลมไม่เข้าปอดเกิดจากอะไร

  • อาจจะเกิดจากเศษอาหารอุดตันทำให้เป่าลมไม่เข้า
  • เกิดจากเทคนิคการเป่าไม่ได้เปิดทางเดินหายใจ เ
  • ป่าแรงไม่เพียงพอ

13. ถ้าเราจะช่วยคนสำลักแต่เขาอ้วนจนเรากอดจากด้านหลังไม่ได้ มีท่าไหนให้ช่วยอีกไหม

  • ให้เราโอบและกระทุ้งที่บริเวณหน้าอกแทน ซึ่งหน้าอกคนเรามักโอบรอบเสมอ
  • ถ้าไม่ได้จริงๆพอคนไข้หมดสติก็เริ่ม CPR ทันที

14. ถ้าอยู่คนเดียวแล้วพบคนหมดสติควรทำสิ่งใดก่อนกันระหว่าง CPR หรือโทร1669

  • ควรโทร 1669 ก่อนเพื่อตาม AED และทีมช่วยเหลือ

15. ถ้าระหว่างปั๊มหัวใจคนป่วยฟื้นขึ้นมาแล้ว หมดสติลงไปอีกครั้ง เราต้องปั๊มหัวใจต่อไหม

  • ให้เลือกตามขั้นตอนใหม่ตั้งแต่พื้นที่ปลอดภัยเลย

16. หากในสถานการณ์เราอยู่คนเดียวควร CPR อย่างเดียวหรือต้องเป่าปากด้วย

  • ขึ้นอยู่กับความกล้ากับผู้ช่วยเหลือ
  • หากเป็นญาติหรือคนรู้จักอาจจะช่วยก็ได้ไม่ผิด

17. ถ้าคนป่วยอยู่ในน้ำ, บนรถ, บริเวณที่ไม่สามารถ CPR ได้ เราจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ไหม

  • ควรย้ายไปในพื้นที่ปลอดภัยก่อน
  • พื้นที่ที่ควรจะได้ปั๊มคือพื้นราบ, เรียบแน่นและแห้ง

18. ถ้าเราข่วยทำ CPR คนแต่เขาไม่ฟื้นเป็นความผิดของเราหรือไม่

  • ถ้าตามทีมขอความช่วยเหลือแล้วไม่นับว่าเป็นความผิด

19. ถ้าเรามองเห็นเศษอาหารอยู่สามารถใช้มือล้วงเข้าไปเอาเศษอาหารออกมาได้ไหม

  • ล้วงได้แต่ต้องเห็นออกมาเป็นชิ้น ๆ ในปากแล้ว
  • ถ้าเห็นเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของเศษอาหารไม่แนะนำให้ล้วง

20. กรณีเรากำลังใช้เครื่อง AED แต่เกิดมีปัญหา เช่น เครื่องรวนหรือไม่เหมือนที่เรียนมา เราควรใช้ต่อหรือไม่

  • ให้ตามเครื่องใหม่มาหรือตามทีมใหม่มาทันที
  • CPR รอเครื่องใหม่
  • กรณีนี้จะพบปัญหาบ่อยสุด คือ แบตเตอรี่ของเครื่องหมด

21. ถ้าเราดูครื่อง AED แล้วสภาพเก่ามากแผ่นแปะใช้งานมาหลายครั้งเราควรใช้กับผู้ป่วยหรือไม่

  • ใช้ได้แต่การวิเคราะห์จะผิดไป รวมไปถึงการปล่อยพลังงานกระแสไฟฟ้าก็ไม่ถูกต้อง
  • แนะนำให้แผ่นแปะใช้ครั้งเดียวทิ้งทุกยี่ห้อทุกชุดทุกชิ้น

22. ถ้าเราช่วยผู้ป่วยและผู้ป่วยฟื้นแล้ว แต่รถพยาบาลยังไม่มา เราควรทำอย่างไรต่อ

  • ผู้ป่วยฟื้นลืมตาให้ปิดเครื่อง
  • ผู้ป่วยหายใจ ไม่ลืมตาให้จับท่า ตะแคงกึ่งคว่ำหรือRecovery position

23. คนชักแล้วหมดสติสามารถใช้เครื่อง AED ได้หรือไม่

  • ใช้ได้แต่ต้องทำตามขั้นตอนปกติเริ่มจากขั้นตอนแรก : พื้นที่ปลอดภัย

24. ถ้าคนท้องหมดสติเราจะปั๊มหัวใจ และใช้เครื่อง AED กับคนท้องได้ไหม

  • สามารถใช้ได้เหมือนคนทั่วไปเลยตำแหน่งแปะก็เหมือนกับคนปกติ แต่ตอน CPR ต้องโกยท้องไปด้านซ้ายเพื่อป้องกันไม่ให้ท้องกดทับเส้นเลือดใหญ่บริเวณท้อง

25. ถ้าเศษอาหารติดคอคนท้องเราจะช่วยเขายังไง ใช้วิธีตามคลิปข้างบนได้ไหม

  • ช่วยโดยการโอบกอดและรัดที่บริเวณหน้าอกแทนหรือใต้เรานม

26. ถ้าเราจะใช้เครื่อง AED แต่เราไม่สามารถถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยได้คือดึงไม่ขาดไม่มีอุปกรณ์ตัดเราจะใช้เครื่อง AED ได้มั้ย

  • ไม่ได้ เราไม่สามารถแปะแผ่นผ่านเสื้อผ้าได้ จำเป็นต้องฉีกหรือตัดออกเท่านั้น
  • ดังนั้นในที่เครื่อง AED ต้องมีชุดอุปกรณ์จำเป็น (AED kit set) เสมอ

27. ทำไมตอนเรียกผู้ป่วยต้องตบไหล่ทั้งสองข้าง

  • ถ้าตบบ่าข้างเดียวคอจะขยับ หากในกรณีผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุอาจจะทำให้เป็นอัมพาตได้

28. AMBU Bag สามารถใช้ซ้ำได้ไหม

  • มีทั้งแบบใช้ซ้ำได้และใช้ครั้งเดียว
  • หากจะใช้ซ้ำแนะนำให้ไปทำความสะอาดก่อน
  • การใช้ซ้ำทำติดเชื้อทางเดินหายใจได้

29. ทำไมต้องกดหน้าอก 30 ครั้งและเป่าปาก 2 ครั้ง ถ้าไม่เป่าปากจะได้ไหม

  • การเป่าปากช่วยแก้ปัญหา การขาดอากาศ เช่น ผู้ป่วยจมน้ำ
  • ไม่เป่าก็ได้ แล้วแต่ว่ามีความกล้ามากแค่ไหน

30. ถ้าเราเจอคนหมดสติทั้งเด็กและผู้ใหญ่เราควรช่วยใครก่อน

  • ขึ้นอยู่กับผู้ช่วยเหลือเลยว่าจะช่วยใครก่อน

31. ทำไมต้องเชยคางผู้ป่วยขึ้นก่อนจะบีบแอมบู เพื่อเปิดทางเดินหายใจ

  • หากไม่เปิดทางเดินหายใจ ก็ไม่สามารถบีบแอมบูได้

32. นิ้วที่ใช้กดหน้าอกเด็กเพื่อปั๊มหัวใจสำหรับแพทย์ทำไมถึงใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกด แต่สำหรับคลิปปั๊มหัวใจอย่างถูกวิธีทำไมใช้นิ้วโป้งของมือทั้งสองข้างกด

  • การปั๊มหัวใจเด็กที่ถูกต้องมี 2 วิธี

          - หากมีผู้ช่วยเหลือคนเดียว : ให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดหรือนิ้วกลางกับนิ้วนางกดเพื่อจะได้เป่าปากได้ง่ายโดยอัตราการช่วยเหลือเป็นปั๊ม 30 ครั้ง เป่า 2 ครั้ง (30 : 2)

          - หากมีผู้ช่วยเหลือสองคน : ให้ผู้ช่วยเหลือคนแรกใช้นิ้วโป้งทั้งสองข้างกดอก ผู้ช่วยเหลือคนที่สองเป่าปากหรือบีบแอมบูได้ง่ายโดยอัตราการช่วยเหลือเป็นปั๊ม 15 ครั้ง เป่า 2 ครั้ง(15 : 2)

33. ถ้าเราติดแผ่นpad ของเด็กแล้วลืมเปลี่ยนเป็นโหมดเด็ก แล้วทำการช็อตเด็กจะเป็นอันตรายไหม

  • เด็กจากได้รับพลังงานสูง อาจจะมีผลต่อการบาดเจ็บที่หัวใจได้แต่ดีกว่าไม่ได้ช็อกเลย

34. ถ้าคนที่ติดเครื่องอุปกรณ์ตรงหัวใจเราควรใช้เครื่อง AED ไหม

  • ใช้ได้แต่ต้องติดห่างจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจภายใน ระยะห่าง 8 - 10 เซนติเมตร

35. ถ้าเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างหนักเราควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือไม่

  • ไม่แนะนำให้ย้ายผู้ป่วย ควรทำพื้นที่ให้ปลอดภัยจะดีกว่า

36. การเป่าลมเข้าปอดต้องมีปริมาณที่เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ

  • เพียงแค่เห็นหน้าอก ขยับก็เพียงพอแล้ว

37. ทำไมถึงไม่ควรใช้ Pad ซ้ำ

  • ความต้านทานเปลี่ยนไปทำให้อ่านคลื่นไฟฟ้าไม่ดีถูกต้อง
  • ความต้านทานที่เปลี่ยนทำให้คำนวณพลังงานผิดพลาดได้

38. เกิดเราอยู่คนเดียวไม่มีคนเอาเครื่อง AED มาให้เราควรไปหยิบ AED ก่อน หรือทำ CPR ก่อน

  • ขึ้นอยู่กับระยะทางที่จะไปหยิบถ้าหยิบได้ภายใน 4-5 นาที ให้หยิบเครื่อง AED ก่อน
  • แต่ถ้าไกลกว่านั้นให้ขอความช่วยเหลือแล้วให้คนอื่นหยิบให้

39. ถ้าเกิดคนในครอบครัวหมดสติแล้วอยู่บนเตียงที่นิ่มเราก็ไม่สามารถอุ้มคนลงมาได้ สามารถทำอย่างไรต่อ

  • ควรวางผู้ป่วยบนที่เรียบแน่นและราบ เพื่อปั๊มหัวใจ
  • ถ้าเป็นในโรงพยาบาลจะมีแผ่นกระดานไว้รองเพื่อปั๊มหัวใจ

40. ถ้าเกิดผู้หญิงที่ผ่าตัดเต้าหัวนมจะสามารถวัดตำแหน่งแบบใด

  • วัดได้โดยใช้สองมือคำนวณตำแหน่งโดยวางมือข้างหนึ่งไว้ด้านบนติดคอ และอีกข้างหนึ่งวางต่อกันไป ตำแหน่งกดบนมือข้างที่ ใกล้คอมากกว่า

41. ถ้าเราเรียนการทำ AED และ CPR มาแล้ว แต่พอเกิดเหตุเราไม่ช่วยผิดหรือมั้ย

  • ไม่ผิดแต่แนะนำให้ขอความช่วยเหลือก่อน
  • ในกฎหมายบัญญัติว่าถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์แล้วไม่ช่วยถือว่าผิด
  • ถ้าไม่มีใครรู้ก็ไม่ผิด

42. ถ้าเราช่วยผู้ป่วยผู้หญิงฟื้นขึ้นมาและเขาเกิดจะฟ้องเราที่ถอดเสื้อเขาเราต้องทำยังไง

  • เราใช้เวลาที่เราตามทีมช่วยเหลือเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าทำเพื่อไปช่วยชีวิต

43. เมื่อทำ CPR จนฟื้นแล้วต้องจัดท่านอนเป็นท่าไหนและใช้ท่านอนนี้กับทุกครั้งเลยหรือไม่

  • นอนตะแคงกึ่งคว่ำ Recovery position ใช้ในกรณีคนไข้ไม่ตื่นแต่ยัง

44. หากคนไข้ตื่นแล้วควรจะเปิดหรือปิดเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจหรือไม่

  • แนะนำให้ปิดเครื่อง AED เพื่อป้องกันไม่ให้ช็อกซ้ำ
  • แล้วจะเปิดอีกครั้งก็ต่อเมื่อคนไข้หมดสติอีก

45. กรณีผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน สามารถปั๊มหัวใจได้ไหม

  • กระดูกพรุนกระดูกหักไม่ตาย

46. กรณีใช้ AED แล้ว ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ค่าแผ่นแปะและแบตเตอรี่

  • ปกติเป็นเจ้าของเครื่อง
  • ถ้ามีโปรโมชั่นของบริษัทที่จำหน่ายเครื่อง AED

47. พื้นที่ที่มีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าสูงสามารถใช้ AED ได้ไหม

  • ใช้ไม่ได้เนื่องจากมีโลหะอยู่ใน AED
  • แนะนำให้ปิดระบบหรือเอาคนไข้ ออกจากพื้นที่อันตราย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้